ชนิดท่อในงานระบบสุขาภิบาลของบ้านที่คุณควรรู้

คุณสมบัติของท่อชนิดต่างๆ ในงานระบบสุขาภิบาล ไปจนถึงการเลือกชั้นความหนาของท่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละส่วนที่เจ้าของบ้านทุกท่านควรรู้

ชนิด คุณสมบัติและชั้นความหนาของท่อประปาที่เจ้าของบ้านควรรู้

ท่อน้ำที่ใช้สำหรับการเดินระบบประปาและสุขาภิบาลที่ใช้กันทั่วไปนั้นมีอยู่หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ท่อ ABS ท่อซีเมนต์ใยหิน ท่อ CPVC ท่อเหล็กหล่อเหนียว ท่อ PE หรือท่อ PVC เป็นต้น ท่อแต่ละชนิดนั้นจะมีมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ครอบคลุมต่อการใช้งานที่แตกต่างกัน ในบทความนี้ Too Architects จะขอแบ่งปันความรู้ของเรื่องมาตรฐานของท่อระบบประปาและสุขาภิบาลเพียงบางประเภทที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในบ้านพักอาศัยและการเลือกความหนาของท่อ เพื่อให้ทุกท่านสามารถเลือกชนิดของท่อที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุดในบ้านหรืออาคารที่กำลังจะก่อสร้างอยู่

ท่อ CPVC (Chlorinated Polyvinyl Chloride-CPVC) 

ท่อ CPVC เป็นท่อสำหรับใช้เป็นท่อประปาและท่อสุขาภิบาลทั่วไป หากใช้เป็นท่อน้ำร้อนต้องสามารถรับแรงดันการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 7 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรที่อุณหภูมิ 82 องศาเซลเซียส เมื่อใช้เป็นท่อประปาภายในอาคารต้องสามารถรับแรงดันการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 13.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และถ้าเป็นท่อสำหรับระบบสุขาภิบาลต้องสามารถรับแรงดันการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 8.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร หากวางท่อในแนวนอนต้องมีที่รองรับหรือที่ยึดท่อทุกระยะ 90 เซนติเมตร และหากวางท่อในแนวตั้งต้องมีที่รองรับหรือที่ยึดท่อทุกระยะ 150 เซนติเมตร การเชื่อต่อท่อซีพีวีซีเข้ากับข้อต่อใช้วิธีอัดแน่นโดยใช้น้ำยาประสานและการเชื่อมต่อด้วยเกลียว

ท่อ PB (Polybutylene-PB) 

ท่อ PB หากใช้เป็นท่อประปาภายนอกต้องรับความดันการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 10.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส และมีคุณสมบัติตามมาตรฐาน มอก.910 ชั้นคุณภาพไม่ต่ำกว่า SDR 13.5 ถ้าเป็นท่อประปาภายในอาคารต้องรับแรงดันการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 13.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เมื่อใช้กับระบบท่อน้ำร้อนต้องรับแรงดันการใช้งานไม่น้อยกว่า 5.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรที่อุณหภูมิ 82 องศาเซลเซียส ส่วนการใช้งานในระบบท่อสุขาภิบาลนั้นต้องสามารถรับแรงดันการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 8.2 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส

ท่อ PVC (Polyvinyl Chloride-PVC) 

ท่อ PVC เป็นท่อที่นิยมใช้กันมากในระบบสุขาภิบาลและท่อประปา ขนาดตั้งแต่ 5, 8.5 และ 13.5 สามารถรับความดันการใช้งานได้ตั้งแต่ 5-13.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ท่อ PVC สามารถนำมาใช้ได้ทั้งสำหรับเป็นท่อประปาภายในและภายนอกอาคารและระบบท่อสุขาภิบาล การเชื่อมต่อท่อ PVC นั้นใช้การเชื่อมต่อแบบสวมโดยใช้แหวนยางและการเชื่อมต่อแบบเชื่อมประสาน ท่อ PVC จะไม่ใช้กับระบบน้ำร้อนและชนิดที่นำมาใช้กับระบบสุขาภิบาลและท่อประปานั้นเป็นท่อสีฟ้า ท่อพีวีซีมีคุณลักษณะเด่นคือทนต่อแรงดันน้ำได้ดี ทนต่อสภาพกรดและด่าง มีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่มีสารพิษจากตัวท่อละลายออกมาปนเปื้อนในน้ำ

ประเภทของระบบสุขาภิบาล

ตามมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างที่ใช้กันในระดับประเทศและระดับสากลนั้น ประเภทของงานระบบสุขาภิบาล สามารถแบ่งออกได้ 7 ระบบ ดังนี้

1.ระบบน้ำดีหรือน้ำประปา(Cold water pipe system)

คือ ระบบท่อน้ำที่ใช้งานสำหรับการลำเลียงน้ำสะอาดไปยังจุดต่างๆ ภายในอาคาร เช่น ระบบน้ำประปาสำหรับห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักล้าง หรือ ระบบน้ำดับเพลิงภายในอาคาร เป็นต้น

2.ระบบระบายน้ำโสโครก (Soil pipe system)

คือ ระบบท่อที่ลำเลียงน้ำเสียที่ถูกใช้งานจากโถส้วม หรือโถปัสสาวะออกจากพื้นที่และนำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายออกสาธารณะ

3.ระบบระบายน้ำทิ้ง (Waste pipe system)

คือ ระบบท่อที่นำน้ำเสียที่ถูกใช้งานจากกิจกรรมต่างๆ ออกจากพื้นที่ เช่น น้ำเสียจากระเบียง และนำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายออกนอกอาคาร

4.ระบบบำบัดน้ำเสีย (Water treatment system) 

คือ ระบบบำบัดน้ำที่มาจากการใช้งานภายในอาคาร ให้มีค่าดัชนีวัดค่าคุณสมบัติต่างๆ ของน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดก่อนจะระบายออกสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ

5.ระบบท่อระบายอากาศ (Vent pipe system) 

คือ ระบบท่อที่จะติดตั้งเข้ากับระบบท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาสูญญากาศในท่อระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำในเส้นท่อสามารถระบายได้อย่างสะดวก และยังระบายอากาศและกลิ่นออกจากท่ออีกด้วย

6.ระบบท่อระบายน้ำฝน (Rain drainage pipe system)

คือ ระบบท่อที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำฝนออกจากตัวอาคาร เช่น ระบายน้ำฝนจากดาดฟ้าหรือหลังคา

7.ระบบระบายน้ำภายนอกอาคาร (Building sewer system) 

คือ ระบบท่อระบายน้ำบริเวณพื้นที่โดยรอบของอาคาร ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำออกจากบริเวณอาคารเข้าสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ

การเลือกใช้ท่อแต่ละความหนา

ในการเลือกใช้ท่อแต่ละความหนานี้ จะขอยกท่อ PVC มาเป็นตัวอย่างในการเลือกใช้ เนื่องจากท่อชนิดนี้สามารถครอบคลุมการใช้งานสำหรับงานระบบประปาและสุขาภิบาลของในอาคารได้ทั้งหมด และท่อ PVC นี้ก็เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในงานสร้าง เพราะมีราคาประหยัดและมีความแข็งแรงทนทาน

ท่อ PVC ชั้นคุณภาพ 5

รับแรงดันได้ 0.5MPa หรือ 5 Bar หรือ 7.25 Psi เป็นท่อบางเหมาะสำหรับงานที่มีแรงดันน้อย เช่นการทำระบบท่อระบายน้ำทิ้ง ระบบท่อระบายอากาศ ระบบท่อน้ำฝน

ท่อ PVC ชั้นคุณภาพ 8.5

รับแรงดันได้ 0.85MPa หรือ 8.5 Bar หรือ 123.3 Psi เป็นท่อที่เหมาะสำหรับการทำระบบท่อระบายน้ำโสโครกหรือระบบระบายน้ำทิ้ง ส่วนมากจะใช้สำหรับงานที่ทนระบบแรงดันได้มากกว่าท่อชั้น 5

ท่อ PVC ชั้นคุณภาพ 13.5

รับแรงดันได้ 1.35MPa หรือ 13.5 Bar หรือ 195.8 Psi เป็นท่อที่มีความหนามากที่สุด เหมาะสำหรับท่อที่ต้องการใช้แรงดันสูง ส่วนมากจะใช้เป็นท่อสำหรับระบบน้ำประปา ท่อน้ำดี ท่อหลัก หรือระบบประปาที่อยู่ใกล้กับปั๊มน้ำ เพราะมีความสามารถในการรับแรงดันได้ดีที่สุด

ทั้งนี้การเลือกชนิดการใช้งานของท่อและขนาดนั้นขึ้นอยู่ความเหมาะสมของงานแต่ละที่ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งนอกจากความหนาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น ข้อต่อและอุปกรณ์ต่างๆ ระหว่างท่อแต่ละเส้น, กาวทาท่อที่ควรจะรอให้กาวแห้งอย่างน้อย 24 ชม. ก่อนทดลองเปิดระบบน้ำใช้งาน หรือการติดตั้งท่อที่บางครั้งการติดตั้งแบบฝังดินและฝังกำแพง ผู้ออกแบบระบบจะต้องคำนึงถึงแรงดันจากภายนอกท่อที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้นเจ้าของอาคารทุกท่านควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านงานระบบประปาและสุขาภิบาลก่อนจะเริ่มงานก่อสร้าง

This is some text inside of a div block.