งานประเภท Built-in นั้นได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายเนื่องจากความต้องการของคนในการใช้งานพื้นที่ภายในแต่ละห้องนั้นแตกต่างกันในบางครั้งการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวอาจไม่ตอบโจทย์ลักษณะการใช้งานที่ต้องการหรือข้อจำกัดในด้านของพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแคบความลาดเอียงของพื้นและผนังที่ไม่เท่ากัน จึงทำให้งาน Built-in นั้นตอบโจทย์ในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นอย่างมากในบทความนี้ Too Architects จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของแผ่นไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงาน Built-in ซึ่งแต่ละชนิดนั้นมีข้อดีข้อเสีย คุณสมบัติ และประเภทการใช้งานที่แตกต่างกัน ให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจในงานBuilt-in และเป็นความรู้สำหรับผู้ที่กำลังมองหาเฟอร์นิเจอร์ Built-in มาไว้ในบ้านของท่าน
ไม้ปาร์ติเกิ้ล(Particle Board)
ไม้ปาร์ติเกิ้ล หรือในบางประเทศเรียกว่าชิปบอร์ด (Chipboard) มีกระบวณการผลิตโดยการนำเศษชิ้นไม้และขี้เลื่อยมาประสานกันโดยสารเคมี และนำมาทำการบดอัดด้วยความดันสูงผสมด้วยกาว เนื้อไม้จะเหนียวแต่ไม่แน่นมีความเหนียวที่ได้จากเส้นใยที่ประสานกัน แต่เนื้อไม้ก็จะฟู หยาบ ไม่แน่นในเนื้อไม้จะมีโพรงอากาศเล็กๆ เป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปจะมีความหนาอยู่ที่ 15 และ 20 มม. เท่านั้น
ข้อดีของไม้ปาร์ติเกิ้ล
- เป็นไม้อัดที่มีราคาถูก
- มีความหนาหลากหลายให้เลือกใช้ตามควมต้องการ
- น้ำหนักเบาที่สุดในบรรดาไม้ทดแทนธรรมชาติ
- เป็นที่นิยมในวงกว้าง หาซื้อได้ง่าย
ข้อเสียของไม้ปาร์ติเกิ้ล
- ไม่แข็งแรง เนื้อไม้มีการขยายตัวได้ง่าย
- อายุการใช้งานสั้น
- การติดตั้งบานพับเฟอร์นิเจอร์จะไม่ทนทานต่อการใช้งาน
- ไม่สามารถโดนน้ำได้
- ไม่สามารถพ่นสีบนตัวงานได้่
- เกิดเชื้อราได้ง่ายถ้ามีความชื้น
ไม้ปาร์ติเกิ้ลนิยมใช้อย่างมากในงานเฟอร์นิเจอร์ประเภทน็อคดาวน์ที่ราคาถูกเนื่องจากราคาไม่สูง และ สามารถหาซื้อได้ง่าย
ไม้เอ็มดีเอฟ(MDF : Medium Density Fiber Board)
ไม้ MDFผลิตโดยการนำชิ้นไม้มาแปรรูปอย่างละเอียดผสมกับกาวชนิดพิเศษแล้วผ่านกระบวนการอัดเป็นแผ่นด้วยเครื่องอัดคุณภาพสูง ไม้ที่นิยมนำมาใช้นั้นคือไม้ยูคาลิปตัสและไม้ยางพารา ผิวไม้ที่ได้จะมีความเรียบเนียน เนื้อแน่นไม่มีรูพรุนนิยมปิดผิวด้วยแผ่นวีเนียร์ แผ่นลามิเนต หรือเมลามีน โดยขนาดมาตรฐานของ แผ่นไม้ MDF ที่ขายกันตามท้องตลาดอยู่ที่ 1.22 x 2.45 เมตร (4 x 8 ฟุต) ต่อแผ่น ส่วนความหนาที่นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 3 มิลลิเมตร ถึง 25มิลลิเมตร ขึ้นอยู่ว่าจะนำไปใช้ประกอบหรือ รับน้ำหนักส่วนไหนของเฟอร์นิเจอร์
ข้อดีของไม้MDF
- ผิวไม้มีความเรียบเนียบ
- ทำสีได้สวยงาม
- ตัดแต่ง บาก เจาะ ได้ง่าย เพราะเนื้อไม้มีความละเอียด
- มีขนาดความหนาให้เลือกหลากหลาย
ข้อเสียของไม้MDF
- มีราคาสูงกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล
- ต้องระวังในเรื่องของความชื้น
- เกิดฝุ่นในปริมาณมากเมื่อตัดไม้
ไม้ MDFเหมาะสำหรับใช้ในการ Built-in ภายในทั่วไปเช่น งานเฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อิน ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ เป็นต้น
ไม้เอชเอ็มอาร์(HMR : High Moisture ResistanceBoard)
ไม้ HMRผลิตโดยการนำชิ้นไม้มาแปรรูปอย่างละเอียดแล้วอัดประสานด้วยกาวชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติทนความชื้นทำให้สามารถใช้งานในบริเวณที่มีความชื้นสูงได้ดีไม้มีสีเขียวเนื่องจากผสมสีเขียวไว้ในเนื้อไม้เพื่อให้แยกออกจากไม้ MDF และไม้ HDF ได้ง่าย นิยมนำไป CNC ทำสีหรือปิดผิวด้วยแผ่นวีเนียร์ แผ่นลามิเนต หรือเมลามีน โดยขนาดมาตรฐานของ แผ่นไม้ HMR ที่ขายกันตามท้องตลาดอยู่ที่ 1.22 x 2.45 เมตร (4 x 8 ฟุต) ต่อแผ่น ส่วนความหนาที่นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 3 มิลลิเมตร ถึง 25มิลลิเมตร ขึ้นอยู่ว่าจะนำไปใช้ประกอบหรือ รับน้ำหนักส่วนไหนของเฟอร์นิเจอร์
ข้อดีของไม้HMR
- ผิวไม้มีความเรียบเนียบ
- ทำสีได้สวยงาม
- ตัดแต่ง บาก เจาะ ได้ง่าย เพราะเนื้อไม้มีความละเอียด
- มีขนาดความหนาให้เลือกหลากหลาย
- ใช้งานได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นสูง แต่ไม่สามารถแช่น้ำได้โดยตรง
- นำไปฉลุลายหรือแกะสลักได้ดี
ข้อเสียของไม้HMR
- มีราคาสูงกว่าไม้ MDF
- ถึงจะกันชื้นได้ดี แต่ก็โดนน้ำโดยตรงไม่ดีเช่นกัน
ไม้ HMRสามารถใช้ทำงาน Built-in ในบริเวณที่มีความชื้นสูงเช่น ตู้เคาน์เตอร์ครัว ตู้ใต้อ่างล้างหน้าหรือชั้นวางของในห้องน้ำและยังสามารถนำไปฉลุลายเพื่อใช้ตกแต่งฝ้าเพดาน หรือลวดลวยต่างๆ ตามที่ต้องการได้
ไม้เอชดีเอฟ(HDF : High Density Fiber Board)
ไม้ HDFคือแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นสูงผลิตโดยนำไม้มาแปรรูปอย่างละเอียดแล้วอัดประสานด้วยกาวชนิดพิเศษที่มีประสิทธิภาพในการทนความชื้นได้สูงและสำหรับไม้ HDF Super E0 ใช้กาวสูตรพิเศษที่ปลอดสารฟอมัลดีไฮด์ทำให้ไม่มีกลิ่นและปลอดภัยต่อการใช้งานไม้ HDF นั้นมีการเพิ่มชั้นไม้ทำให้ความหนาแน่นของไม้ HDF สูงกว่าไม้ MDF และไม้ HMR ส่งผลให้แผ่นบอร์ดเนื้อแน่นมีความแข็งแรงสูงเหมาะกับงานที่ต้องใช้รับแรงหรือทนการกระแทกได้
ข้อดีของไม้ HDF
- เนื้อในแน่นละเอียดไม่มีรูพรุน มีอัตราการหดและพองตัวต่ำจึงคงรูปได้ดี
- มีความหนาแน่นสูงจึงใช้ในบริเวณที่มีแรงกระแทกได้
- ใช้งานได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นสูง แต่ไม่สามารถแช่น้ำได้โดยตรง
- ผิวไม้มีความเรียบเนียบ
- ทำสีได้สวยงาม
ข้อเสียของไม้ HDF
- มีความหนาจำกัด
- ไม้มีความแข็ง ทำให้ตัดยากต้องเปลี่ยนใบเลื่อยบ่อยขึ้น
- มีราคาสูงเมื่อเทียบกับไม้ MDF และไม้ HMR
- ถึงจะกันชื้นได้ดี แต่ก็โดนน้ำโดยตรงไม่ดีเช่นกัน
เนื่องจากไม้ HDF มีความหนาแน่นสูงจึงนิยมนำไปใช้ในบริเวณที่มีแรงกระแทกได้เช่น ใช้เป็นผนังกั้นห้อง หรือเป็นส่วนประกอบของบานประตู และ Core Board ของไม้พื้นลามิเนต
ไม้อัด(Ply Wood)
ไม้อัดเกิดจากการฝานไม้ให้ได้แผ่นบางๆแล้วนำมาอัดติดกันโดยใช้กาวเป็นตัวประสานโดยการประสานของไม้อัดนั้นจะจัดวางไม้บางแต่ละแผ่นให้แนวเสี้ยนขวางตั้งฉากกันเป็นการเพิ่มความแข็งแรงและลดการขยายตัวในระนาบแผ่นไม้ให้น้อยที่สุด
ข้อดีของไม้อัดPlywood
- เนื้อแน่น มีอัตราการหดและพองตัวต่ำ จึงไม่บิดหรือโก่งงอ
- มีประเภทที่กันน้ำได้
- มีความแข็งแรง ทำโครงสร้างได้
- สามารถทำสีและโชว์ลายไม้ได้เลย
ข้อเสียของไม้อัดPlywood
- ไม่เหมาะกับงานฉลุลาย เนื่องจากมีเนื้อไม้ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ
- ประเภทที่กันน้ำได้ราคาค่อนข้างสูง
ไม้อัดนั้นเหมาะสมอย่างมากสำหรับนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรืองานประเภท Built-in โดยเฉพาะในบริเวณที่ต้องการโชว์เนื้อไม้และในบางกรณีไม้อัดยังสามารถใช้ทำโครงสร้างได้ซึ่งในท้องตลาดนั้นมีไม้อัดยางที่ใช้สำหรับทำป้ายโฆษณา ฉากกั้น พื้น ผนังและชั้นวางของแบบชั่วคราวที่ไม่เน้นความสวยงามข้อจำกัดของไม้อัดยางทั่วไปคือมีลายให้เลือกน้อยและสวยไม่เท่าไม้อัดที่มีการปิดผิว อีกทั้งยังมีความหนาแน่นต่ำจึงรับแรงและน้ำหนักได้น้อย
ไม้อัดโอเอสบี(OSB : Oriented Strand Board)
ไม้ OSBมีขั้นตอนการผลิตคือนำชิ้นไม้ที่แบนบางและยาววางสลับเสี้ยนขวางตั้งฉากกันอย่างน้อย 3ชั้นจากนั้นใช้กาวชนิดพิเศษและเรซินเป็นส่วนผสมผ่านกระบวนอัดด้วยความร้อน และแรงดันสูง
ข้อดีของไม้OSB
- สวยงามดูเป็นธรรมชาติ
- แข็งแรง ทนมาน ยึดและเจาะได้ง่าย
- หดและขยายตัวต่ำมากในทุกสภาพแวดล้อม
ข้อเสียของไม้OSB
- ไม่นิยมทำสีเพราะผิวไม่เรียบ
- ไม่เหมาะกับงานฉลุเพราะเศษไม้จะหลุดร่วงและเห็นลายไม่ชัดเจน
ไม้ OSBนั้นนิยมใช้ทำเป็น Sub roof สำหรับปูShingle roof หรือใช้เป็นวัสดุสำหรับงานฝ้าและผนังที่เน้นโชว์ลายไม้อีกทั้งยังสามารถใช้งานประเภทเฟอร์นิเจอร์ต่างๆได้แต่ต้องมีการเก็บขอบเป็นอย่างดีไม่ให้เหลือเสี้ยนไม้