เส้นสายที่สะอาด ผิวคอนกรีตที่เรียบเนียน บานกระจกหน้าต่างขนาดใหญ่ และสีโทนที่กลมกลืน คือจุดเด่นของที่พักอาศัยสไตล์มินิมอลที่ตรงกับวลีอมตะของ Ludwig Mies van der Rohe ที่ว่า “Less is more” แต่ในขณะที่บางกระแสนั้นกลับมองว่า “Minimalism” นั้นไร้จิตวิญญาณ เป็นสูตรที่ตายตัวของผู้ออกแบบที่ใช้กันอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ในทางกลับกันถ้าผู้ออกแบบปฏิบัติกับแนวทางการออกแบบสไตล์มินิมอลนี้อย่างใส่ใจ ความงามง่ายที่ออกมาในพื้นที่ก็เปรียบเหมือนบทกวีดีๆ บทหนึ่งที่มีความไพเราะและพิถีพิถัน Tadao Ando สถาปนิกชาวญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณมอบความว่างเปล่าให้แก่ผู้คนในงานออกแบบ จะเป็นเสมือนการปล่อยให้พวกเขาพิจารณาไตร่ตรองความว่างเปล่านั้น และผู้คนจะได้รับในสิ่งที่เขาจะอยากได้รับในงานออกแบบ” เฉกเช่นเดียวกับความมินิมอลที่เปรียบเสมือนการออกแบบพื้นที่ให้เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน และเปิดช่องว่างให้ผู้ใช้งานได้เติมเต็มความเป็นตัวเองของพวกเขาเข้าไป ในบทความนี้ Too Architects จะขอพาทุกท่านไปชมตัวอย่างงานสไตล์มินิมอล ที่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและคุณจะเห็นว่า “Minimalism” ไม่ใช่แค่สูตรที่ตายตัวของนักออกแบบและเป็นมากกว่าคำว่า “เรียบๆ และขาว
บ้านพักตากอากาศที่เน้นการเลือกใช้หินและคอนกรีตผิวเรียบที่ไม่โดดเด่นเป็นวัสดุหลักสำหรับภายในของบ้าน เพื่อเป็นการเคารพต่อภูมิทัศน์ธรรมชาติโดยรอบและทะเลสาบที่สวยงาม มีการใช้แสงธรรมชาติจากช่องหน้าต่างขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือหลักที่ช่วยให้พื้นที่มีความอบอุ่น สว่างและเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกได้อย่างลงตัว
บ้านของกวีชาวสเปนที่เน้นการใช้เส้นสายที่สะอาดตา ใช้สีขาวเป็นสีหลักสำหรับพื้นที่ภายใน ประกอบกับการเลือกเฟอร์นิเจอร์ในการจัดวางที่น้อยชิ้น เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานเป็นที่พักอาศัยของกวีที่ต้องการบรรยากาศที่สงบ สร้างแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวี ซึ่งพื้นที่ว่างนี้เองเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้จินตนาการของเจ้าของบ้านลื่นไหลและแสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านได้อย่างดีที่สุด
หน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่บริเวณคอร์ดยาร์ดกลางบ้านที่มีอายุเก่าแก่ของบ้านหลังนี้ช่วงสร้างบทสนทนาระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกได้อย่างดี ถึงแม้จะมีการเลือกใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสเรียบแต่ความกว้างของพื้นที่ภายในนั้นก็ช่วยเน้นให้ผิวสัมผัสของวัสดุโดดเด่นขึ้นมา ผ้าม่านขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบคอร์ดยาร์ดอยู่นั้นทำหน้าที่ช่วยบดบังทัศนียภาพจากภายนอก สร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้พักอาศัย และยังสามารถเลื่อนเพื่อเพิ่มความโปร่งโล่งให้กับสเปซในยามที่ต้องการด้วย
บ้านพักที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาในประเทศเวลส์แห่งนี้เป็นความตั้งใจของเจ้าของบ้านที่ต้องการบ้านพักตากอากาศ สำหรับการพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของเจ้าของ งานออกแบบภายในที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานดีไซน์ของญี่ปุ่น สะท้อนออกแบบผ่านสเปซที่ทำให้รู้ถึงความโดดเดียวที่อบอุ่นเหมือนกับสภาพแวดล้อมของที่ตั้ง ด้วยวัสดุหลักที่ผู้ออกแบบเลือกใช้อย่างอิฐทำมือสีขาวจากเดนมาร์ก พื้นหินขัดมันและฝ้าเพดานไม้สีอ่อน ที่สร้างบรรยากาศความเรียบง่ายและสงบ เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่พักผ่อนและฟื้นฟูสำหรับเจ้าของอย่างที่สุด
โทนสีเขียวมิ้นต์สุดเท่ห์ เส้นสายที่เรียบง่ายและดูสะอาดตา การออกแบบที่ไม่ธรรมดาของพื้นที่พักคอยของร้านขายสมุนไพรโบราณ ที่เน้นการใช้สีเขียวโทนเดียวอย่างเงียบสงบ บ่งบอกถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของสถานที่แห่งนี้คือ “การรักษา” ลิ้นชักติดผนังแต่ละชั้นจะเต็มไปด้วยสมุนไพรนานาชนิดที่ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกได้ตามที่ต้องการ
บ้านที่ดูเรียบง่ายทั้งภายนอกและภายในหลังนี้ มีการใช้คอนกรีตบริเวณพื้นและบันไดเพื่อแสดงถึงประวัติศาสตร์ของโรงงานอุตสาหกรรมที่เคยตั้งอยู่บนพื้นที่แห่งนี้ ที่มีความแข็งแรง หนักแน่น และทนทาน ควบคู่ไปกับการใช้สีขาวและไม้สีอ่อน ที่ช่วยประสานระหว่างความแข็งและความอ่อนได้อย่างลงตัว ควบคู่ไปกับการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่โล่งเพื่อเป็นการเพิ่มความรู้สึกโอบล้อมของสเปซเอาไว้
บ้านที่ได้รับการออกแบบให้เป็นแกลเลอรีสำหรับจัดแสดงคอลเลกชั่นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของเจ้าของบ้าน มีสเปซภายในบ้านที่คล้ายกับงานประติมากรรมคอนกรีตพื้นผิวลาดเอียง ประกอบกับช่องแสงธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ปล่อยให้แสงเข้ามาตกกระทบพื้นผิวคอนกรีตและสร้างเอฟเฟกต์ที่แปลกตา เชื่อมต่อแต่ละชั้นด้วยบันไดขั้นบางสีดำที่ให้ความรู้สึกเหมือนลอยอยู่ได้ด้วยตัวเอง