ขั้นตอนการก่อสร้างก่อนจ้างสร้างบ้านต้องรู้
ลำดับขั้นตอนการก่อสร้างบ้านนั้นถูกกำหนดขอบเขตไว้ในสัญญาว่าจ้าง และต้องมีลำดับงวดงานควบคู่กับการจ่ายเงิน เมื่อเจ้าของบ้านจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้าน จำเป็นต้องทำความเข้าใจลำดับขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาว่าตรงตามสัญญาหรือไม่ และประกอบกับการจัดสรรงบประมาณในแต่งวดงานไม่ให้งบประมาณบานปลาย
การเริ่มต้นสร้างบ้าน ต้องเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ก่อนเสมอ จากนั้นถึงจะเริ่มงานโครงสร้างและฐานราก ตามลำดับ หลังจากนั้นจึงติดตั้งหลังคา ก่อผนัง เสร็จแล้วถึงเริ่มงานระบบ จากนั้นจะเริ่มงานสถาปัตย์ ประตู หน้าต่าง ปูพื้น ต่อด้วยงานภายใน built-in และเก็บรายละเอียดงาน ทำความสะอาดจนพร้อมส่งมอบบ้านให้แก่เจ้าของบ้าน
สำหรับตัวเจ้าของบ้านเองก็ควรเข้าใจลำดับขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถตรวจและควบคุมงานได้ในเบื้องต้น อีกทั้งความเข้าใจนั้น ช่วยให้รู้ถึงที่มาและตำแหน่งของระบบต่างๆทั้ง ระบบท่อไฟฟ้ ประปา ตำแหน่งระบบสุขาภิบาล เผื่อในอนาคตท่านต้องการซ่อมแซม หรือต่อเติมบ้านจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง
คือ งานก่อสร้างที่ระบุในแบบก่อสร้างอาคารที่สถาปนิกและวิศวกรเป็นผู้ออกแบบและรับรองแบบ รวมไปถึงรายการประกอบแบบ เอกสารแนบสัญญา งานประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร โดยมีการทำงานเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดเวลาการทำงาน ได้ผลงานที่ดีมีคุณภาพ และก่อสร้างเสร็จตรงตามเวลาที่กำหนด
1. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
2. การเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง
3. งานวางผังอาคาร
4. งานขุดเจาะเสาเข็ม
5. งานฐานรากโครงสร้างชั้นล่าง
6. งานโครงสร้างชั้นบน โครงหลังคา และโครงสร้างงานระบบสุขาภิบาล
7. งานมุงหลังคา และโครงสร้างบันได
8. งานก่อผนัง ติดตั้งวงกบไม้ประตู-หน้าต่าง และเตรียมงานระบบไฟฟ้า-ประปา
9. งานฉาบผนัง และงานติดตั้งฝ้าเพดาน
10. งานวัสดุตกแต่งพื้นผิว ติดตั้งอุปกรณ์ ติดตั้งประตู-หน้าต่าง และงาน Build-In
11. ทำความสะอาดและตรวจความเรียบร้อยในขั้นตอนการเก็บงาน
12. ทดลองอยู่อาศัยจริง
ในขั้นตอนแรกนี้ เมื่อได้รับแบบก่อสร้างจากสถาปนิก ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จะส่งแบบต่อไปให้ผู้รับเหมาทันทีเพื่อทำการตีราคา โดยเข้าใจว่าแบบก่อสร้างนั้นพร้อมนำมาใช้ได้เลย การที่แบบขออนุญาตก่อสร้างได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ โยธาอบต. โยธาเขต ไม่ได้แปลว่าแบบนั้นถูกต้องครบถ้วนพร้อมใช้ในการก่อสร้าง โดยทางเจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเพียงเท่านั้น ปัญหาที่มักจะพบเจอบ่อยครั้ง เช่น แบบสถาปัตย์ขัดแย้งกับแบบขยายหรือรูปตัด ระดับของงานสถาปัตย์กับงานระบบขัดแย้งกันเอง ทำให้ทางผู้รับเหมาต้องทำการช้อปดรออิ้ง (shop drawing) เพื่อนำมาเสนอผุ้ว่าจ้างใหม่อีกครั้ง ก่อนเริ่มต้นขั้นตอนต่อๆไป
เมื่อได้รับแบบก่อสร้างบ้านจากสถาปนิก วิศวกร และได้ทำสัญญากับผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว ผู้รับเหมาจะเริ่มเข้าหน้างานเตรียมพื้นที่ กำหนดจุดวางและขนย้ายเครี่องมืออุปกรณ์ต่างๆเข้าพื้นที่ เตรียมสถานที่พักสำหรับคนงาน หากมีบ้านเดิมจะต้องรื้อถอนออกก่อน หรือหากเป็นที่ดินเปล่าจะมีการขอน้ำและไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับใช้งานในการก่อสร้าง
ทั้งนี้การเตรียมพื้นที่ก่อสร้างรวมไปถึงการพิจารณาระดับพื้นบ้าน โดยอาจจะต้องถมที่ดินเพื่อปรับระดับให้เหมาะสม แล้วถึงสร้างเริ่มการก่อสร้างฐานราก การถมดินนั้นจำเป็นต้องตรวจสอบประวัติการเกิดอุทกภัย เพื่อประมาณการความสูงในการถมดิน และโดยทั่วไปจะตรวจสอบระดับดินบริเวณข้างเคียง และถนน ส่วนมากนั้นจะถมที่ดินให้สูงกว่าถนนหน้าบ้านประมาณ 50-80 เซนติเมตร และควรสูงกว่าท่อระบายน้ำสาธารณะ ส่วนระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถมดินอยู่ในช่วงหน้าแล้ง (ช่วงเดือนธันวาคม – พฤษภาคม) เพราะสามารถทำงานได้สะดวก ได้ดินที่แน่นและมีคุณภาพ เพราะหากถมดินในช่วงหน้าฝนอาจจะทำให้ดินไหลได้
หลังจากที่เตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จะเป็นการวางผังแนวอาคารซึ่งเป็นการกำหนดตำแหน่งของเสาเข็มโดยอ้างอิงจากแบบแปลน โดยในขั้นตอนนี้จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ เจ้าของบ้าน ผู้ออกแบบ วิศวกร และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง กรณีที่พบอุปสรรคที่หน้างาน เช่น แนวต้นไม้ใหญ่ แนวเสาเข็มโครงสร้างอาคารเดิม หรือตำแหน่งอาคารข้างเคียงที่มีผลต่อพื้นที่ใช้สอยอาคาร เป็นต้น สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับระยะต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่จริงได้ โดยผู้รับเหมาจะนำเสนอแนวทางแก้ไขให้ผู้ออกแบบเซ็นชื่อรับรอง เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
ขั้นตอนที่เกี่ยวกับงานเสาเข็มมักจะจ้างบริษัทรับเหมางานเสาเข็มโดยเฉพาะ ซึ่งทางผู้ออกแบบจะสำรวจหน้างานและกำหนดว่าบ้านแต่ละหลังเหมาะจะใช้เสาเข็มประเภทใด หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบคุณภาพเสาเข็มเพื่อทดสอบความแข็งแรง (Load Test) เพื่อทดสอบความสามารถในการรับน้ำหนักว่าได้ตามมาตรฐานหรือไม่ และไม่เยื้องศูนย์ แต่หากเกิดความผิดพลาดหรืออุปสรรคในการตอกหรือเจาะเสาเข็ม ผู้ออกแบบอาจต้องแก้ไขแบบเพื่อให้เสาเข็มและฐานรากดังกล่าวสามารถรับน้ำหนักได้ตามที่กำหนด
เสาเข็มที่ใช้กับอาคารบ้านเรือนทั่วไปในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะของการผลิตและการใช้งาน ได้แก่
เราจะพบเห็นการใช้เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ในการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัยทั่วไป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงเป็นคอนกรีตที่ทำมาจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็วและมีโครงเหล็กภายในทำจากลวดเหล็กอัดแรงกำลังสูง
โดยส่วนมากชนิดเสาเข็มที่ใช้สำหรับรับน้ำหนักของบ้านจะเป็นเสาเข็ม รูปตัวไอ ส่วนขนาด และความยาวนั้นขึ้นอยู่กับวิศวกรผู้ออกแบบเป็นคนกำหนด ส่วนมากมักจะนิยมใช้เสาเข็มหกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยมชนิดกลวง โดยเสาเข็มตัวทีนั้นมักจะใช้กับงานโครงสร้างที่เล็กกว่าหรือการรับน้ำหนักน้อยกว่า เช่น งานฐานรากของรั้ว วิธีการก่อสร้างนั้นใช้วิธีตอกกระแทกลงไปในดินด้วยปั้นจั่นซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ไม่ยุ่งยากมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการเจาะ อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
การก่อสร้างที่ใช้เสาเข็มเจาะมักจะมีความซับซ้อนในการทำงาน และจะต้องทำ ณ สถานที่จริงเลย โดยใช้เครื่องมือเจาะขุดดินลงไปให้ได้ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลาง และความลึกของเสาเข็มตามที่กำหนด จากนั้นถึงจะใส่เหล็กเสริมและเทคอนกรีตลงไปเพื่อหล่อเป็นเสาเข็ม โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
คือ เสาเข็มเจาะที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่อ 35-60 เซนติเมตร (ส่วนมากจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35, 40, 50, 60 เซนติเมตร) ความลึกในการเจาะอยู่ในช่วงประมาณ 18-23 เมตร กรรมวิธีที่ใช้ในการเจาะมักจะเป็นแบบแห้ง (dry process)
คือ เสาเข็มเจาะที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 60 เซนติเมตรขึ้นไป (ส่วนมากจะมี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80, 100, 120, 150 เซนติเมตร) มีความลึกอยู่ในช่วงประมาณ 25-65 เมตร กรรมวิธีที่ในการเจาะมักจะเป็นระบบเปียก (wet process) ซึ่งแตกต่างจากระบบแห้ง โดยวิธีนี้จะต้องเพิ่มขั้นตอนในการฉีดสารเคมีเหลว Bentonite Slurry ลงไปในหลุมที่ทำการขุดเจาะมีความลึกมากๆ เพื่อสร้างแรงดันในหลุมที่เจาะ และยึดประสานผิวดินในหลุมเพื่อป้องกันไม่ให้ผนังหลุมที่เจาะพังทลายลงมา
การใช้เสาเข็มเจาะจะไม่ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปสู่อาคารข้างเคียง เนื่องจากใขบวนการทำงานนั้นไม่มีการตอกกระแทกของปั้นจั่นที่ใช้กับเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง อีกทั้งเสาเข็มเจาะยังได้เปรียบได้เรื่องของขนาดของเสาเข็ม ที่สามารถสร้างให้มีขนาดใหญ่ได้ถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 เซนติเมตร เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดของขนาดของปั้นจั่นและน้ำหนักของตัวเสาเข็ม ในขณะที่เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงโดยทั่วไปขนาดที่ใหญ่ที่สุด จะทำความกว้างของพื้นที่หน้าตัดได้เพียง 40 เซนติเมตรเท่านั้น เรื่องสุดท้ายคือความลึกของเสาเข็ม เสาเข็มเจาะสามารถเจาะได้ลึกกว่าความยาวของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมาก
ดังนั้นหากต้องการก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งต้องรับน้ำหนักมาก แนะนำให้ใช้เสาเข็มเจาะ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสั่นสะเทือนซึ่งจะเป็นอันตรายต่ออาคารข้างเคียง แต่ในทางปฏิบัติการทำเสาเข็มเจาะจะมีรายละเอียดที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงเป็นอย่างมาก ดังนั้นคนส่วนมากจึงเลือกที่เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ในการปลูกบ้านพักอาศัยเพราะมีขั้นตอนที่ง่ายกว่าและราคาถูกกว่าเสาเข็มเจาะมาก
เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรงหรือเสาเข็มสปัน เป็นเสาเข็มที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีการปั่นคอนกรีตในแบบหล่อซึ่งหมุนด้วยความเร็วสูง ทำให้เนื้อคอนกรีตมีความหนาแน่นสูงกว่าคอนกรีตที่หล่อด้วยวิธีธรรมดา แรงเหวี่ยงส่งผลให้เกิดเป็นรูกลมกลวงตรงกลาง มีโครงลวดเหล็กอัดแรงฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีตโดยรอบ ส่งผลให้มีความหนาแน่น และความแข็งแกร่งสูง รับน้ำหนักได้มากถึง 20 – 40 ตันต่อต้น การตอกเสาชนิดนี้สามารถทำได้หลายแบบ ทั้งวิธีการตอกด้วยปั้นจั่นแบบธรรมดา และวิธีการตอกด้วยระบบเจาะกด
เสาเข็มสปันมีให้เลือกใช้หลายขนาด ที่พบเห็นกันมากมีตั้งแต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-100 เซนติเมตร มีความหนาของเนื้อคอนกรีตอยู่ในช่วง 6-14 เซนติเมตร โดยมีความยาวอยู่ในช่วง 6-18 เมตร ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต การเพิ่มความยาวสามารถทำได้โดยการนำเสามาเชื่อมต่อกัน ความกลวงในเสาเข็มสปันช่วยลดการสั่นสะเทือนเวลาตอก และถ้าหากต้องการใช้เสาเข็มที่ความยาวมาก การใช้เสาเข็มสปันสามารถช่วยลดแรงดันของดินในขณะตอกได้โดยการดันขึ้นของดินขึ้นมาทางรูกลวงของเสา แน่นอนว่าวิธีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่ออาคารอาคารข้างเคียงมากนัก
ข้อดี ของเสาเข็มประเภทนี้คือ ความสะอาด ไม่เลอะเทอะมากนัก ไม่วุ่นวาย เสียงไม่ดัง ใช้คนงานไม่มากนัก และสามารถที่จะตอกเข็มชิดกับกำแพงบ้านหรือตัวบ้านได้เลย หรือมักจะใช้ในพื้นที่ขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถตั้งปั้นจั่นหรือขาหยั่งของเสาเข็มเจาะได้
หลังจากที่ตัดหัวเสาเข็มแล้ว ผู้รับเหมาหลักจะเริ่มงานโครงสร้างฐานราก ซึ่งประกอบด้วย ฐานรากและเสาตอม่อ จากนั้นจึงขึ้นโครงสร้างชั้น 1 ซึ่งประกอบด้วย คานคอดิน เสา คาน และพื้นชั้นล่าง โดยอาจอาจเลือกเป็นพื้นหล่อในที่ (พื้นห้องน้ำ) ร่วมกับพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป
ถ้าเกิดโครงสร้างที่ใช้เป็น คอนกรีตเสริมเหล็ก ควรมีขนาด และค่ากำลังอัดตามที่วิศวกรได้คำนวณไว้ ซึ่งต้องใช้เวลาใน การบ่มคอนกรีต และถอดแบบค้ำยันประมาณ 14-28 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและประเภทปูน เพื่อให้ได้โครงสร้างที่มีความแข็งแรงพร้อมรับน้ำหนักโครงสร้างส่วนอื่นๆต่อไป แต่ถ้ากรณีที่สร้างบ้านด้วยโครงสร้างเหล็ก ให้เริ่มนำชิ้นส่วนเหล็กในแต่ละส่วนมาเชื่อมกันทั้งในส่วน เสา คาน ตง เป็นต้น
ในขั้นตอนนี้จะรวมการขุดดินเพื่อวางระบบสุขาภิบาล เช่น ระบบท่อน้ำทิ้ง ท่อประปา บ่อพัก Manhole ซึ่งเจ้าของบ้านจำเป็นต้องทำความเข้าใจและจดบันทึกตำแหน่งระยะงานระบบเอาไว้ เผื่ออนาคตต้องการที่จะปรับปรุงหรือต่อเติม
งานโครงสร้างชั้นสองก็ทำเช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง ผู้รับเหมาจะขึ้นโครงสร้างเสา คาน อเส (ส่วนประกอบของโครงสร้างหลังคา) และอาจมีงานหล่อชิ้นส่วนตกแต่ง เช่น บัว กันสาด ขอบปูน ซึ่งโครงสร้างแต่ละส่วนจะต้องใช้ระยะเวลาบ่มคอนกรีตเช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง นอกจากนี้จะเริ่มขึ้น โครงหลังคา ซึ่งมีหลายประเภท เช่น โครงหลังคาไม้ โครงหลังคาเหล็ก หรือโครงหลังคาสำเร็จรูป เป็นต้น
ส่วนของงานระบบประปาและสุขาภิบาล จะเป็นการติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย ถังเก็บน้ำใต้ดิน และท่อน้ำทิ้ง ซึ่งจะถูกติดตั้งในช่วงนี้เพื่อเตรียมการเดินท่อเข้าไปในบ้านต่อไป
เมื่องานโครงสร้างหลักเสร็จแล้ว จะเริ่มติดตั้งวัสดุมุงหลังคาเพื่อให้ภายในบ้านมีร่มเงาและลดอุปสรรคจากลมฟ้าอากาศในการทำงาน ในช่วงนี้จะเริ่มหล่อโครงสร้างบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือติดตั้งบันไดเหล็ก นอกจากนี้จะเป็นการเก็บงานโครงสร้างในส่วนอื่นๆ ให้พร้อมก่อนเริ่มงานก่อผนังและติดตั้งวัสดุปิดผิวต่อไป
เมื่อมุงหลังคาเสร็จแล้ว ต่อไปจะเข้าสู่ขั้นตอนการก่อผนังและหล่อเสาเอ็น - คานเอ็น ในขั้นตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับบ้านแต่ละหลังว่าเลือกใช้ผนังบ้านแบบใด เช่น ผนังก่ออิฐ หรือผนังเบา การก่อผนังจะทำควบคู่ไปกับการเดินท่องานระบบงานต่างๆ ที่ฝังอยู่ในผนัง ทั้งระบบไฟฟ้าและประปา รวมถึงติดตั้ง วงกบ และประตูตามตำแหน่งที่ระบุในแบบก่อสร้าง
งานฉาบคือ การนำวัสดุฉาบมาฉาบบนผนังเป็นชั้นๆ โดยจำนวนชั้นขึ้นอยู่กับชนิดและความแข็งแรงของผนังที่จะถูกฉาบ ในงานฉาบผนังก่ออิฐ จะต้อง จับปุ่ม จับเซี้ยม หรืออาจขึงลวดกรงไก่ เพื่อฉาบผนังให้เรียบสม่ำเสมอ ส่วนผนังเบาจะต้องฉาบเก็บรอยต่อระหว่างแผ่นผนังให้เรียบก่อนที่จะปิดผิว ในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความชำนาญของช่างเพื่องานที่ละเอียดเรียบร้อย ผนังต้องได้ดิ่ง-ฉากทุกพื้นที่ โดยการฉาบสองชั้นคือ การฉาบชั้นรองพื้น (base coat) แล้วฉาบด้วยชั้นแต่งเสร็จ การฉาบสามชั้นคือ การฉาบชั้นรองพื้นชั้นที่หนึ่ง (scratch coat) ตามด้วยชั้นรองที่ 2 (brown coat) แล้วตามด้วยชั้นแต่งเสร็จ
วัสดุที่ใช้ในการฉาบมีส่วนผสมของวัสดุหลายชนิดผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะข้นเหลวและหนืด ใช้ฉาบบนผนังหรือฝ้าเพดาน แล้วปล่อยไว้จนแห้งและแข็งตัว วัสดุฉาบ (plaster) ที่ใช้กันทั่วไปในหลายประเทศคือปูนฉาบยิปซัม ซึ่งทำจากการผสมเนื้อผงยิปซัมกับน้ำ ทรายละเอียดหรือวัสดุมวลเบาละเอียด สารช่วยหล่อลื่น และสารช่วยการแข็งตัว ปูนฉาบยิปซัมเป็นวัสดุที่ทนทาน มีน้ำหนักค่อนข้างเบา และทนไฟ สามารถใช้งานได้กับผนังหรือเพดานทุกประเภทที่ไม่สัมผัสกับความชื้นหรือเปียกน้ำ ส่วนวัสดุฉาบประเภทปูนฉาบทั่วไปซึ่งได้จากการผสมปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ในบางประเทศเป็นที่รู้จักกันในนามปูนสตัสโก้ นิยมใช้ฉาบภายนอกที่ต้องสัมผัสน้ำหรือเปียกชื้น
สำหรับฝ้าเพดานจะมีการกำหนดระดับความสูงตามแบบทั้งภายในและภายนอกบ้าน โดยติดตั้งโครงฝ้าและปิดด้วยวัสดุฝ้าเพดาน เช่น แผ่นยิปซั่ม แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยระหว่างขั้นตอนนี้จะมีการติดตั้งระบบไฟฟ้า โคมไฟ และช่องเซอร์วิสไปพร้อมกัน
เป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามของบ้านโดยตรง ต้องอาศัยความประณีตของช่างมากกว่าขั้นตอนอื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งในขั้นตอนนี้จะประกอบไปด้วย
การเลือกวัสดุนั้นกำหนดโดยผู้ออกแบบหรือสถาปนิก ซึ่งมาจากความชอบของเจ้าของบ้าน โดยอาจจะมีวัสดุพื้นผิวผนัง เช่น ทาสี ฉาบสกิมโค้ท ปูกระเบื้องเซรามิก ติดวอลล์เปเปอร์ เป็นต้น ส่วนวัสดุพื้น เช่น หินขัด กรวดล้าง/ทรายล้าง ปูกระเบื้องเซรามิก ไม้ปาร์เกต์ ไม้ลามิเนต เป็นต้น
การติดตั้งแสงสว่างและหลอดไฟจะเริ่มหลังจากที่ติดตั้งฝ้าเพดาน โคมไฟ และเดินงานระบบเรียบร้อยแล้ว ในช่วงนี้ช่างจะเดินสายไฟเชื่อมกับสวิตช์ไฟ ปลั๊ก และเดินไฟสำหรับติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
การติดตั้งบานประตู บานกระจก หน้าต่างเข้ากับวงกบไม้ที่ติดตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงติดตั้งชุดประตู-หน้าต่างไวนิลหรืออะลูมิเนียมเข้ากับผนังที่เว้นช่องไว้ ซึ่งขอบผนังโดยรอบต้องเรียบอย่างสม่ำเสมอ และได้ระดับดิ่ง-ฉาก เพื่อให้ชุดประตู-หน้าต่างติดตั้งได้พอดี ลดความเสี่ยงการรั่วซึมในอนาคต กรณีที่ใช้วัสดุที่ทำจากไม้ก็ควรจะเป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะจะมีความแข็งแรง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า
การตกแต่งภายในประเภทหนึ่ง ที่ออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตให้มากที่สุด สร้างขึ้นมาเฉพาะเจาะจงสำหรับติดตั้งในพื้นที่นั้นๆ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนได้ รวมถึง ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ เคาน์เตอร์ครัว เป็นต้น
การติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อได้ติดตั้งไปแล้วควรคลุมด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันฝุ่นละออง รอยขีดข่วน และสีที่อาจกระกระเด็นเปรอะเปื้อน ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายในช่วงระหว่างการเก็บงาน
ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้าน ว่าจะทำในช่วงไหน สามารถเริ่มภายหลังที่บ้านเสร็จแล้วก็ได้
ในขั้นตอนนี้จะเป็นอย่างสุดท้าย หลังจากที่ช่างเก็บรายละเอียดงานต่างๆให้เรียบร้อยก่อน เช่น งานทาสี และจะมีการตรวจสอบงานระบบต่างๆ ซึ่งในช่วงนี้เจ้าของบ้านควรเข้ามาตรวจสอบด้วยตัวเอง หากถ้าเจอข้อผิดพลาด ควรแจ้งให้ช่างแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนจะส่งมอบงาน จากนั้นจึงเริ่มทำความสะอาด โดยอาจจะจ้างบริษัททำความสะอาดเข้ามาภายหลังงานก่อสร้าง จากนั้นก็จะส่งมอบงานให้เจ้าของบ้านขนย้ายเฟอร์นิเจอร์เข้าอยู่อาศัย
ท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุด ปัญหาบางอย่างนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่อาจจใช้เวลาเป็นเดือน หรือปีกว่าจะเกิด จึงมีความจำเป็นที่เจ้าของต้องจดจำและเข้าใจเบื้องต้นของตำแหน่งต่างๆของงานระบบภายในบ้านของเรา เพื่อให้สามารถแก้ไขได้อย่างถูกต้องหากพบปัญหา
จากขั้นตอนการก่อสร้างเบื้องต้น การเรียงลำดับที่กล่าวมาอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือซ้อนทับกันได้ในแต่ละงาน โดยอาจมีการเพิ่มหรือแยกย่อยมากกว่านี้ โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น และลักษณะของโครงการ เจ้าของบ้านควรตรวจสอบและทำความเข้าใจสัญญาก่อนเริ่มงานก่อสร้างอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงควบคุมมาตราฐานให้เป็นไปตามที่ระบุในเอกสาร เพื่อรับรองคุณภาพการก่อสร้าง อยากได้บ้านที่มีมาตราฐานต้องรู้อะไรบ้าง >>